เกษตรจังหวัดน่าน ให้การต้อนรับอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ในโอกาสเยี่ยมเยียนพบปะคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน พร้อมมอบนโยบาย
************************************
วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม 2567 นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วย นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และนายเรืองพจน์ ธารานาถ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ ลงพื้นที่จังหวัดน่านเพื่อเยี่ยมเยียนและร่วมพบปะและมอบนโยบายแก่คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน เกษตรอำเภอ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ในการนี้นายศักดิ์สิทธิ์ ศรีวิชัย เกษตรจังหวัดน่าน ได้กล่าวต้อนรับและนำเสนอข้อมูลทางด้านการเกษตรในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมีหัวหน้ากลุ่ม/ฝ่าย เกษตรอำเภอทุกอำเภอ เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดน่านและสำนักงานเกษตรอำเภอ เข้าร่วมรับฟัง ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน และผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Meeting)
- อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า นักส่งเสริมการเกษตรในยุคปัจจุบัน ต้องพัฒนาความรู้ให้มีความเท่าทันกับยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไปอยู่เสมอ รู้จักเปลี่ยนพฤติกรรมตามข้อมูลใหม่ที่ได้รับ โดยนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และดิจิทัลมาปรับใช้ในการทำงาน ทั้งนี้ นักส่งเสริมการเกษตรจะต้องเข้าใจถึง 5 ทักษะสำคัญต่อเกษตรกรไทย เพื่อจะนำไปถ่ายทอดต่อให้เกษตรกรได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น และเกิดความน่าเชื่อถือของข้อมูล เกษตรกรจะเกิดความมั่นใจต่อข้อมูลที่ได้รับ และกล้าที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง โดย 5 ทักษะสำคัญต่อเกษตรกรไทย ประกอบด้วย
1. Growth Mind Set & Anti Fragile คือ มีความเชื่อว่าความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการเรียนรู้ ความพยายาม และการฝึกฝน และเมื่อล้มเหลวจะพยายามมากขึ้น และความสามารถในการต้านทานความเปราะบาง ถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญต่อธุรกิจ บุคคลที่อยากมีความก้าวหน้าในโลกที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงง่าย ทักษะนี้จะช่วยให้เรารับมือกับเหตุการณ์ผิดปกติและคาดเดาไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรา ได้อย่างเป็นมืออาชีพมากขึ้น ทำให้เรากลัวมันน้อยลง และสามารถทำใจยอมรับมันเป็น บทเรียน หรือ ประสบการณ์ ได้ง่ายขึ้น
2. Learning Skills คือ ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสถานการณ์ และคิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาที่ซับซ้อน การสร้างไอเดียใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ และการใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อแก้ไขปัญหา การทำงานร่วมกับผู้อื่นในทีม การสื่อสาร การแบ่งหน้าที่ การแก้ไขข้อขัดแย้ง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ตลอดจนการเขียน การพูด การฟัง การสื่อสารออนไลน์ การสื่อสารระหว่างวัฒนธรรมและระหว่างสังคมต่างๆ
3. Financial Literacy คือ ความสามารถที่จะเข้าใจและกระจายความเสี่ยงทางการเงิน การปรับแผนการผลิตการตลาดในสภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย การจัดสรรเงินก่อนใช้จ่าย การบริหารการเงิน ทัศนคติการเป็นหนี้ การชำระหนี้แบบต่างๆ และการใช้จ่ายเงินที่เหมาะสม
4. Digital Literacy คือ ความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป็นทักษะพื้นฐานสำคัญที่ทุกคนควรมี เพราะทักษะนี้เป็นตัวช่วยในการต่อยอดไปสู่ทักษะอื่นๆ ที่เฉพาะเจาะจงกับสายอาชีพมากขึ้น
5. ESG Literacy for Resilience: Environment Social Governance หรือ ความรู้ ความตระหนัก ความเข้าใจถึงการกระทำต่างๆ ที่ส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปฏิบัติตนให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Skills) ความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต (เกษตรกร) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห่วงโซ่อุปทาน การใช้ความสำคัญต่อสิทธิมนุษยชน เพศ สวัสดิการแรงงาน และการกำกับดูแลและการนำองค์กรที่ดี)
- อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวต่อว่า การทำเกษตรในยุคสมัยใหม่ เราจะทำแบบเดิมไม่ได้ นักส่งเสริมการเกษตรต้องเชื่อมั่นว่า ถ้าเราทำงานร่วมกัน แบ่งปันข้อมูลมากขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตรจะเติบโต สร้างคุณค่าที่เกษตรกรต้องการจากเราได้มากยิ่งขึ้น และเราจะส่งมอบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ที่เหมาะสมให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 4 ปี เพราะรอยยิ้มของเกษตรกร คือความภาคภูมิใจของเรา
ภาพเพิ่มเติม